724 Wealth

วิถี...แห่งนักลงทุนสายเทคนิค ต้องศึกษาอะไรบ้าง

วิถี...แห่งนักลงทุนสายเทคนิค ต้องศึกษาอะไรบ้าง

การนำศาสตร์แห่งการวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยวิธีทางเทคนิค มาช่วยพยากรณ์แนวโน้มของตลาด เป็นหนึ่งในแนวคิดที่นักลงทุนส่วนใหญ่นิยมศึกษา เพราะการใช้กราฟเทคนิค จะทำให้นักลงทุนได้เห็นสัญญาณการซื้อ-ขายเกิดขึ้น และสามารถตัดสินใจลงทุนได้ทันที นอกจากนี้ยังลงทุนได้โดยไม่สนใจข้อมูลพื้นฐานของบริษัท

แต่การลงทุนโดยอาศัยกราฟเทคนิคเพื่อให้ได้ผลตอบแทนนั้นไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ง่ายเท่าไหร่ นักลงทุนจะต้องหมั่นศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งมากพอสมควร ซึ่งบทความนี้ 724 Wealth จึงได้รวบรวมวิธีที่นักลงทุนหลายๆท่านศึกษาจนนำไปใช้จนประสบความสำเร็จในการลงทุนจากใช้กราฟเทคนิคและหากำไรได้จริงในตลาดหุ้น

1. การหาแนวโน้มของราคา โดยศึกษาราคาของหลักทรัพย์ คือการเริ่มจากสังเกตกราฟเทคนิค รายสัปดาห์ รายเดือน เพื่อให้เห็นแนวโน้มของราคาเป็นอย่างไร มีลักษณะรูปแบบแนวโน้มขาขึ้น หรือรูปแบบขาลง หลังจากนั้นให้มาดูกราฟระยะรายวันเพื่อหาจังหวะเข้าซื้อเพื่อถือหลักทรัพย์

2. หาแนวรับแนวต้าน ราคาที่เหมาะที่สุดในการเข้าซื้อ คือ ใกล้ๆแนวรับ และราคาที่เหมาะที่จะขายที่สุด คือ แนวต้านซึ่งสามารถกำหนดได้โดยราคาในอดีตที่ผ่านมา แต่ในกรณีที่ราคาหลักทรัพย์ผ่านแนวต้านเดิมหรือแนวรับเดิม แปลว่าแนวโน้มเดิมที่เรามองไว้ อาจถึงช่วงกลับตัว หรืออาจสร้างแนวรับหรือแนวต้านใหม่ก็เป็นได้

3. รู้ถึงการพักตัว-แกว่งตัว ไม่ว่าแนวโน้มของราคาจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง จะมีจังหวะพักตัวระหว่างทาง ตลาดมักจะไม่ขึ้นหรือลงรวดเดียว แล้วจบแนวโน้ม การหาจุดพักตัวแล้วเข้าซื้อจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นักลงทุนด้านเทคนิคนิยมใช้กัน

4. วาดเส้นแนวโน้มราคา เป็นการตีเส้นแนวโน้ม (Trend line ) เป็นวิธีการใช้เครื่องมือ โดยลากจากจุด 2-3 จุดบนกราฟ เพื่อหาทิศทางแนวโน้มของราคา ซึ่งตลาดหุ้นจะมีแค่ 3 แนวโน้มนั้นคือ
- แนวโน้มขาขึ้น โดยลากจากจุดต่ำสุด ไปสู่จุดต่ำสุดที่สูงขึ้น
- แนวโน้มไซด์เวย์ โดยลากเส้นขนาดในระดับที่ราคาสูงสุดในช่วงนั้น และราคาต่ำสุดในช่วงนั้น ที่เกิดขึ้นซ้ำๆกัน
- แนวโน้มขาลง โดยลากจากจุดสูงสุด ไปสู่จุดสูงสุดที่ต่ำลงมา

5. ซื้อขายตามเส้นค่าเฉลี่ย เส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average) คือสัญญาณซื้อหรือขายที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นค่าเฉลี่ย 2 เส้นตัดกัน โดยถ้าเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้น ตัดเส้นระยะยาวขึ้น แสดงว่าเป็นสัญญาณซื้อ ส่วนถ้าหากเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นตัดเส้นระยะยาวลง แสดงว่าเป็นสัญญาณขาย ซึ่งเส้นค่าเฉลี่ยที่นิยมใช้คือ 50 วัน และ 200 วัน

6. เรียนรู้การแกว่งตัว โดยใช้เครื่องมือ RSI (Relative Strength Index) ซึ่งเป็นเครื่องมือบอกโมเมนตัมของหลักทรัพย์ว่า
ราคา ณ ช่วงนั้นนักลงทุนได้มีการซื้อมากเกินไป (Overbought) หรือ ขายมากเกินไป (Oversold)
โดยถ้าเส้น RSI มากกว่า 70 แสดงว่าซื้อมากเกินไป ส่วนถ้า RSI น้อยกว่า 30 แสดงว่าขายมากเกินไป

7. ปริมาณการซื้อขายยืนยันแนวโน้ม คือสังเกตปริมาณการซื้อขาย (Volume) เพราะปริมาณการซื้อขายที่มากผิดปกติในช่วงเวลานั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้ม ตัวอย่างเช่น ในช่วงแนวโน้มขาขึ้นของตลาด ควรเห็นปริมาณการซื้อที่มากขึ้น เพื่อสนับสนุนแนวโน้มที่มีอยู่ หากปริมาณการซื้อขายเริ่มลดลง แสดงว่าแนวโน้มนั้นใกล้จบลงแล้ว 

สุดท้ายนี้การวิเคราะห์ทางเทคนิค นั้นเป็นเพียงตัวช่วยในการตัดสินใจหาโอกาสในการลงทุน แต่ก็ไม่สามารถพยากรณ์ราคาหุ้นที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ถูกต้อง 100% ดังนั้น ก่อนหาจังหวะเข้าซื้อทุกครั้ง ต้องกำหนดราคาตัดขาดทุน (Stop Loss) เอาไว้ด้วยเสมอเพื่อป้องกันการขาดทุนอย่างหนัก