724 Wealth

กำแพงภาษี อาจนำการค้าโลกกลับไปสู่หายนะเดิมๆ

กำแพงภาษี อาจนำการค้าโลกกลับไปสู่หายนะเดิมๆ

ย้อนกลับไปในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ The Great Depression สหรัฐฯ เผชิญกับเศรษฐกิจที่พังทลายจากภายในสู่ภายนอก ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่มสลายในปี 1929 แรงงานนับล้านตกงาน โรงงานปิดตัว สถาบันการเงินล้มละลายตามๆ กันเป็นโดมิโน และในช่วงเวลาวิกฤตนั้นเอง นักการเมืองอเมริกันกลับตัดสินใจเดินหน้าใช้เครื่องมือที่พวกเขาเชื่อว่าจะปกป้องคนงานและธุรกิจในประเทศ นั่นคือการตั้งกำแพงภาษีสูงสุดในประวัติศาสตร์ ผ่านกฎหมายการขึ้นภาษีที่มีชื่อว่า Smoot–Hawley Tariff Act

วิกฤตจากกำแพงภาษี (Tariff) ในปี 1930

กฎหมายนี้ผ่านสภาคองเกรสและลงนามโดยประธานาธิบดี Herbert Hoover ในปี 1930 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้ากว่า 20,000 รายการจากต่างประเทศ เป็นอัตราภาษีที่สูงมากในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยขึ้นภาษีสินค้า เช่น ผ้าฝ้าย เหล็ก ถ่านหิน รถยนต์ และอาหาร ทั้งหมดนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่าการเก็บภาษีนำเข้าจะทำให้สินค้าต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวอเมริกันหันมาบริโภคสินค้าในประเทศแทน ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมและการจ้างงานในประเทศ

เกิดสงครามการค้า

เมื่ออเมริกาตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้น โลกทั้งโลกก็เริ่มตอบโต้ ประเทศต่าง ๆ ตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กลับทันที ทั้งฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมนี และแม้แต่กลุ่มเครือจักรภพอังกฤษ ผลที่ตามมาคือ การค้าระหว่างประเทศทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างรุนแรง จากปี 1929 ถึง 1934 มูลค่าการค้าทั่วโลกลดลงกว่า 65% ขณะที่การส่งออกของสหรัฐฯ หดตัวถึง 61% ภายในเวลาเพียง 2 ปี นำไปสู่การปิดตัวของธุรกิจส่งออก ส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กหลายหมื่นแห่งล้มละลาย และคนงานในภาคเกษตรกรรมที่เคยพึ่งพาการส่งออกต้องเผชิญกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำจนไม่คุ้มค่าต้นทุนการผลิต

หลังจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างรุนแรง ผลกระทบก็สะท้อนกลับมาที่ตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานในสหรัฐที่อยู่ที่ 8% ในปี 1930 พุ่งขึ้นเป็น 16% ในปี 1931 และแตะจุดสูงสุดที่ 25% ในปี 1932–1933 แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันว่าสาเหตุของอัตราว่างงานสูงนั้นเกิดจากภาษีโดยตรงหรือไม่ แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่า Smoot–Hawley Tariff ได้ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความเปราะบางของระบบการเงิน ความต้องการบริโภคที่ตกต่ำ และการบริหารจัดการธนาคารที่ล้มเหลว

อีกหนึ่งความเสียหายที่สำคัญแต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง คือความเสียหายต่อ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” จากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ โดยถูกหลายประเทศมองว่าเห็นแก่ตัว และทำให้ประเทศพันธมิตรบางรายเริ่มต่อต้านแนวทางเสรีนิยมทางการค้า เกิดแนวโน้มปกป้องเศรษฐกิจตนเองทั่วโลก ซึ่งยิ่งซ้ำเติมการหดตัวของเศรษฐกิจโลก และสร้างบรรยากาศแห่งความตึงเครียด รวมถึงส่งผลในทางอ้อมต่อการเติบโตของแนวคิดการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ และลัทธินาซี ที่มีส่วนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา

Smoot–Hawley จึงกลายเป็นนโยบายที่ส่งผลลัพธ์เลวร้ายด้วยการมุ่งปกป้องเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐฯ โดยไม่คำนึงถึงการตอบโต้กลับจากประเทศอื่น และไม่เข้าใจว่าโลกเศรษฐกิจในยุคนั้นได้เริ่มเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ บทเรียนที่เจ็บปวดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ในหลายปีต่อมา สหรัฐฯ และโลกหันมาออกแบบระบบเศรษฐกิจแบบเปิด มีการค้าระหว่างประเทศที่เป็นเสรีมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดแบบเดียวกันนั้นเอง

สรุป
กฎหมาย Smoot–Hawley Tariff Act ซึ่งตั้งใจจะช่วยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษ 1930 ยิ่งเลวร้ายลง และเป็นกรณีศึกษาสำคัญของผลเสียของนโยบายกีดกันทางการค้า (protectionism) ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

อ้างอิงและแปลจาก https://www.investopedia.com/terms/s/smoot-hawley-tariff-act.asp