แปลงทรัพย์สินเป็นทุน เสริมสภาพคล่องกับโรงรับจำนำ
กองทุนส่วนบุคคล1,052
แปลงทรัพย์สินเป็นทุน เสริมสภาพคล่องกับโรงรับจำนำ
เมื่อปัญหาสุดคลาสสิกอย่าง “หมุนเงินไม่ทัน” เกิดขึ้น เรามักหาช่องทางแหล่งเงินทุนที่สามารถได้เงินเร็ว แต่บังเอิญ..ญาติสนิทมิตรสหายของเราก็ประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทันเช่นกัน เราจึงต้องมองหาแหล่งเงินทุนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ดอกเบี้ยไม่แพง วันนี้ 724 Wealth ขอนำเสนอช่องทางการบริหารสภาพคล่องที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน ไม่ซับซ้อน และใช้เวลารวดเร็วทันใจ ด้วยการ “นำทรัพย์สินไปจำนำ”
การจำนำ
เป็นการส่งมอบทรัพย์สินของผู้จำนำ ที่เป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น ทองคำ เครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ มาส่งมอบให้แก่ผู้รับจำนำ นั้นก็คือ “โรงรับจำนำ” ซึ่งเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อครบกำหนดเวลา ผู้จำนำจะต้องชำระหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ แต่ถ้าหากขาดส่งดอกเบี้ยหรือไม่มาไถ่ถอนทรัพย์สินภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะถือว่าเป็นของหลุดจำนำโดยทันที
ใครบ้างที่สามารถจำนำทรัพย์สินได้
บุคคลที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป และไม่เป็นสามเณร หรือพระภิกษุ
ประเภทของโรงรับจำนำ
โรงรับจำนำในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักได้แก่
1. โรงรับจำนำของรัฐ จัดตั้งโดยรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถ นำทรัพย์สินที่มีค่าไปจำนำเปลี่ยนเป็นเงินสด ส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า โรงรับจำนำเอกชน
2. โรงรับจำนำเอกชน จัดตั้งโดยบุคคล หรือบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตการดำเนินการโดยรัฐบาล มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการรับจำนำ ส่วนใหญ่มักจะให้ราคาประเมินทรัพย์สินค่อนข้างสูงกว่า และอัตราดอกเบี้ยมักจะสูงกว่าโรงรับจำนำของรัฐ
ขั้นตอนการจำนำทรัพย์สินกับโรงรับจำนำ
1. เตรียมทรัพย์สินและเอกสารทางราชการให้พร้อม
นำทรัพย์สินที่ต้องการจำนำ พร้อมเอกสารที่ทางราชการออกให้ เช่น บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ และเดินทางไปยัง
โรงรับจำนำที่ท่านสะดวก
2. ประเมินราคา
นำทรัพย์สินที่ต้องการจำนำส่งให้เจ้าหน้าที่ของโรงรับจำนำทำการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อประเมินราคา และเจ้าหน้าที่กำหนด
จำนวนเงินที่จะให้กู้ยืม ( วงเงินสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาท ) หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันผู้จำนำต้องสแกนนิ้วเพื่อเป็นหลักฐาน
การกู้ยืม
3. รับเงินสดพร้อมตั๋วจำนำ
รับเงินสด โดยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นการโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ผู้จำนำแจ้งไว้ พร้อมตั๋วจำนำจากเจ้าหน่าที่ ซึ่งเป็นเอกสาร
สำคัญที่ใช้เป็นหลักฐาน รวมถึงใช้ประกอบการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืน โดยผู้จำนำต้องนำมายื่นไถ่ถอนด้วยตนเองเท่านั้น
โดยจะมีระยะเวลากำหนดไถ่ถอนทรัพย์จำนำภายใน 4 เดือน 30 วัน หากทางผู้จำนำไม่นำเงินสดพร้อมดอกเบี้ยมาไถ่ถอนใน
ระยะเวลาที่กำหนด ทรัพย์สินที่จำนำไว้ก็จะหลุดจำนำ
ข้อดีของการจำนำ
- เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเงินสดฉุกเฉิน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องยื่น Statement เพียงแค่มีทรัพย์สินวางเป็นหลักประกัน
- โดยทั่วไปการจำนำ มีดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล
- มีเจ้าหน้าที่โรงรับจำนำประเมินราคา ทำให้รับรู้ราคากลางของทรัพย์สินที่จำนำ
ข้อเสียของการจำนำ
- ไม่ได้เงินสดมากเท่าที่เราคาดหวัง อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ
- กรณีที่ผู้จำนำไม่สามารถไถ่ถอนคืนในระยะเวลาที่กำหนด มีความเสี่ยงในการโดนยึดทรัพย์สินถาวร
ทีนี้เราก็รู้แล้วว่า หากเกิดกรณีฉุกเฉินทางการเงิน หมุนเงินไม่ทัน ปัญหาเงินตึงมือไม่พอใช้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เราก็มีที่พึ่งอย่าง “โรงรับจำนำ” ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เบื้องต้น รวมถึงขั้นตอนวิธีการจำนำทรัพย์สิน ไปจนถึงระยะเวลาการไถ่ถอน แต่ถ้าในอนาคตเราอยากมีเงินใช้เพียงพอ หรืออยากเพิ่มมูลค่าของเงินออมให้มากขึ้น “การวางแผนทางการเงิน” เป็นอีกเรื่องหนึ่งสิ่งที่ท่านควรคำนึงถึง
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.pawn.co.th
: ธนาคารแห่งประเทศไทย