กว่าจะได้เป็นผู้จัดการกองทุน มีการคัดกรองอย่างไรบ้าง ?
กองทุนรวม347
กว่าจะได้เป็นผู้จัดการกองทุน มีการคัดกรองอย่างไรบ้าง ?
เงินของเราของเราก็ห่วง..เงินใครใครก็ต้องหวง ห่วงใยรักใคร่ถนอม แน่นอนครับเรื่องธรรมดา การจะเอาเงินเราที่สุดหวงไปให้ใครคนอื่นคนไกลมาลงทุนแทนเรา เช่นเดียวกันการลงทุนผ่านกองทุนรวม จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นกำกับผู้ดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. หรือสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ว่ามีกระบวนการการคัดกรอง “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพและมีจรรยาบบรรณ คอยช่วยในการบริหารเงินของกองทุนให้แก่นักลงทุนอย่างเข้มงวดอย่างไรบ้าง
ผู้จัดการกองทุน คือใคร?
ผู้จัดการกองทุน หรือ Fund Manager เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจในการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่น ภายใต้สังกัดบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยใช้วิธีการวิเคราะห์หลักทรัพย์ วิเคราะห์ตลาดของสินทรัพย์ บริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุน กระจายสัดส่วนการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยลงทุน และที่สำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต
ผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่อะไรบ้าง ?
ต้องมีการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเงินทั่วโลกอย่างใกล้ชิด และบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างๆที่ออกโดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในแต่ละวัน เพื่อนำข้อมูลมากลั่นกรองก่อนตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงการเข้าไปเยี่ยมกิจการที่กองทุนมีการเข้าไปลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้ด้วย (Company Visit) เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลพื้นฐานของแต่ละกิจการ นอกจากนี้ผู้จัดการกองทุนอาจต้องมีการพบปะกับลูกค้า เช่น บริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล ลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อนำเสนอนโยบายการลงทุน และแนวทางการมองภาพรวมของตราสารที่จะเข้าไปลงทุนในอนาคต
ต้องทำอย่างไร ถึงได้เป็นผู้จัดการกองทุน ?
อยากเป็นผู้จัดการกองทุน ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
- จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
- ทดสอบผ่านหลักสูตร Chartered Financial Analyst (CFA) หรือ Certified Investment and Securities Analyst
ระดับที่ 1 (CISA 1) หรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่า - ทดสอบผ่านหลักสูตรจรรยาบรรณวิชาชีพ และความรู้ด้านกฎหมาย ที่จัดสอบโดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)
- มีประสบการณ์ด้านการลงทุนในหลักทรัพย์ การบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือการวิเคราะห์หลักทรัพย์ ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในช่วงระยะเวลา 5 ปีก่อนวันยื่นคำขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
หลายคนอาจสงสัยแค่สอบผ่านก็เป็น “ผู้จัดการกองทุน” ได้แล้วหรอ แต่แท้จริงแล้วการสอบ CFA ไม่ใช่จะสอบผ่านง่ายๆ โดยการสอบจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ แต่ละครั้งสอบห่างกันประมาณ 6 เดือน นั้นแปลว่าถ้าเก่งมากๆ สอบผ่านทุกครั้งก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี ในการได้สอบผ่านทุกระดับ และที่สำคัญค่าสอบ CFA นั้นไม่ได้ถูกเลย ค่าสอบแต่ละครั้ง $850-$1,280 หรือประมาณ 30,000 – 45,000 บาทแล้วแต่ค่าเงินในตอนนั้น
นอกจากนั้นคนที่จะมาเป็นผู้จัดการกองทุน จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ เช่น ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย ต้องไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ต้องไม่เคยเป็นผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่ได้รับการยกเว้นจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นต้น
ทุกท่านจะเห็นได้ว่าจากคุณสมบัติของผู้ที่จะขอความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดเอาไว้แล้ว
ก็น่าจะทำให้ผู้ลงทุนไว้วางใจในตัวผู้จัดการกองทุนได้พอสมควร ทั้งนี้การลงทุนนั้นมีความเสี่ยง จึงไม่มีใครสามารถทำนายสถานการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำตลอดเวลา ดังนั้นผู้ลงทุนควรมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และควรพิจารณาเลือกลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเองด้วย