บทความ

4 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA (พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล)

4 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA

(พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล)

 

อะไรนะ เดี๋ยวนี้ถ่ายรูปติดหน้าคนอื่น ถือว่าผิดกฎหมายแล้วจริงหรอ ?

 

ทุกวันนี้ระบบโซเชียลต่าง ๆ ถือว่าไปเร็วและไปไวมาก แถมยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนเลยก็ว่าได้ ซึ่งจะสามารถพูดคุยติดต่อได้หลาย ๆ ช่องทาง และในแต่ละช่องทางนั้นก็ยังมีข้อมูลส่วนตัวเรา เช่น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ข้อมูลส่วนตัวเราที่ให้ไปนั้น จะปลอดภัยหรือไม่ จึงได้เกิด กฎหมาย PDPA (พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล) ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลในส่วนนี้

 

ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 กำหนดเริ่มบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2565 หรือ กฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act (B.E.2562) หลังจากมีการเลื่อนประกาศใช้มาแล้ว 2 ปีด้วยกัน

 

กฎหมาย PDPA คืออะไร ?

กฎหมายที่มีขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม

 

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกฎหมายใหม่ที่เรายังไม่คุ้นเคย จึงอาจจะทำให้มีคนอีกมากมายเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวกฎหมาย PDPA ในบางประการ ซึ่งข้อมูลที่ผิดพลาดนั้น อาจจะมาจากสื่อ หรือการเเชร์ต่อ ๆ กันมาในข้อมูลที่ผิด ๆ

 

วันนี้ 724 ได้รวบรวมข้อมูล

Q&A 4 เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจในเรื่องนี้กันมากขึ้น

 

Q : การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิดกฎหมาย PDPA ?

A : แล้วแต่กรณี ถ้าเป็นกรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่น โดยที่ผู้ถ่ายไม่ได้มีเจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวเท่านั้น

 

Q : ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA

A : สามารถโพสได้ แต่ต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้เพื่อแสวงหากำไรและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

 

Q : ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนจะผิดต่อกฎหมาย PDPA

A : หากเป็นการติดกล้องวงจรปิดภายในบ้านตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน เพราะจุดประสงค์คือติดเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตนเอง (เจ้าของบ้าน)

 

Q : เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้

A : ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอมในทุกครั้ง หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว เป็นตามดังข้อต่อไปนี้

1. เป็นการทำตามสัญญา

2. เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ

3. เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล

4. เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ

5. เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

6. เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง

 

หากไม่ปฏิบัติตาม กฎหมาย PDPA จะมีบทลงโทษอะไรบ้าง

 

1. โทษทางแพ่ง กำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจริง ให้กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับความเสียหาย และอาจจะต้องบวกเพิ่มอีกเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มเติมสูงสุดได้อีก 2 เท่าของค่าเสียหายจริง

 

2. โทษทางอาญา จะมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ โดยโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยโทษสูงสุดจะเกิดเมื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA ในส่วนการใช้ หรือการเผลแพร่ข้อมูล

 

3. โทษทางปกครอง โทษปรับมีตั้งแต่ 1 ล้านบาทไปจนถึง 5 ล้านบาท โดยกรณีที่จะโดนโทษปรับสูงสุด 5 ล้านบาทนี้ คือกรณีที่มีการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการใช้หรือเปิดเผยข้อมูล หรือส่งโอนข้อมูลไปต่างประเทศในส่วนที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล และโทษปรับนี้เป็นคนละส่วนต่างหากจากการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งและโทษปรับทางอาญา
 

เกร็ดความรู้

ข้อมูลส่วนบุคคลในกฎหมาย PDPA มีอะไรบ้าง

1. ชื่อ - นามสกุล

2. เลขประจำตัวบัตรประชาชน

3. ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์

4. อีเมล (E-Mail)

5. ข้อมูลทางการเงิน

6. เชื้อชาติ

7. ศาสนา

8. พฤติกรรมทางเพศ

9. ประวัติอาชญากรรม

10. ข้อมูลสุขภาพ

 

*ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณี ๆ ไป