ฮาว ทู คิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต คำนวณอย่างไร?
ความรู้การเงิน และการลงทุน35

ฮาว ทู คิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต คำนวณอย่างไร?
บัตรเครดิต เครื่องมืออำนวยความสะดวกทางการเงินในการซื้อสินค้า และชำระค่าบริการต่างๆ ได้อย่างคล่องมือ นอกจากนั้นยังมีโปรโมชั่นดีๆ เช่น ผ่อน 0% , สะสมคะแนนไว้แลกของ หรือเงินคืน เป็นต้น โดยข้อมูลจาก World Bank ในปี 2021 ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ถือบัตรเครดิตประมาณ 22.61% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 22.26% จาก 121 ประเทศที่มีข้อมูล ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ประเทศไทยมีอัตราการถือบัตรเครดิตสูงเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ (48.9%) แต่ทีนี้ถ้าหากเรามีการใช้บัตรเครดิตในการชำระเงิน ก็มักพ่วงมาด้วยหนี้สิน และดอกเบี้ย ถ้าหากท่านมีการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตเกินตัวล่ะก็ เจ้าบัตรเครดิตที่เคยเป็นมิตรยามยาก ก็จะเปลี่ยนเป็นนายผู้ใจร้าย
ดังนั้นในวันนี้ 724 Wealth ก็จะมาแนะนำวิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพื่อที่จะได้คำนวณเป็น
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คืออะไร?
คือ อัตราดอกเบี้ยในการใช้บริการสินเชื่อที่ผู้ถือบัตรเครดิตมีหน้าที่ต้องชำระให้กับสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิต ในกรณีที่ชำระขั้นต่ำหรือชำระไม่เต็มจำนวน
อธิบายง่ายๆ
เมื่อคุณใช้บัตรเครดิตซื้อของ เท่ากับคุณ "ยืมเงินธนาคาร หรือบริษัทสินเชื่อมาจ่ายก่อน"
หากคุณ จ่ายไม่ครบ หรือจ่ายแค่ขั้นต่ำ → ธนาคารจะคิด "ดอกเบี้ย" จากยอดคงค้าง (ยอดที่ยังไม่ได้จ่ายคืน)
อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตทุกประเภทอยู่ที่ 16% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิต
แต่ในส่วนของค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต คือ ค่าบริการที่สถาบันการเงินเรียกเก็บจากผู้ใช้บัตร เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ และบริการต่างๆ เช่น คะแนนสะสม ส่วนลดร้านค้าที่ร่วมรายการ เป็นต้น
วิธิคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต
1. กรณีจ่ายตรงเวลา แต่เลือกจ่ายขั้นต่ำ
กรณีดอกเบี้ยจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ
- ดอกเบี้ยเงินต้น ของวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระเงิน 1 วัน
- ดอกเบี้ยค้างชำระ ของวันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีถัดไป
สูตรคำนวณ : (ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ x อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี x จำนวนวัน) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี
หากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 16% และยอดหนี้ค้างชำระคือ 15,000 บาท
ดังนั้น
อัตราดอกเบี้ยรายวัน : 16% / 365 = 0.0438%
ดอกเบี้ยรายวัน : 15,000 x 0.0438% = 6.57 บาท
หากเดือนนั้นมี 30 วัน ดอกเบี้ยรายเดือน : 6.57 x 30 = 197.10 บาท
จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องเสียจะเท่ากับ 197.10 บาท
2. กรณีจ่ายไม่ตรงเวลา แต่จ่ายเต็มจำนวน
กรณีนี้จะคิดดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาที่ยอดหนี้นั้นค้างชำระ ตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระจนถึงวันที่ผู้ใช้บัตรฯ ชำระเงิน
สูตรคำนวณ : (ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ x อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี x จำนวนวัน) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี
หากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 16% ยอดหนี้ค้างชำระคือ 15,000 บาท และชำระเงินล่าช้า 7 วัน
ดังนั้น
อัตราดอกเบี้ยรายวัน : 16% / 365 = 0.0438%
ดอกเบี้ยรายวัน : 15,000 x 0.0438% = 6.57 บาท
ดอกเบี้ยสำหรับการจ่ายไม่ตรงเวลา 7 วัน : 6.57 x 7 = 45.99 บาท
จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายยอดไม่ตรงเวลาเท่ากับ 45.99 บาท
3. กรณีกดเงินสดจากวงเงินบัตรเครดิต
กรณีกดเงินสดจากวงเงินบัตรเครดิต จะแตกต่างจากการใช้บริการบัตรเครดิตแบบปกติ อีกทั้งจะมีดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติด้วย
สูตรคำนวณ : (จำนวนเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า x อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี x จำนวนวัน) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี
หากอัตราดอกเบี้ยสำหรับการกดเงินสดล่วงหน้าอยู่ที่ 25% ยอดหนี้ค้างชำระคือ 5,000 บาท
ดังนั้น
อัตราดอกเบี้ยรายวัน : 25% / 365 = 0.0684%
ดอกเบี้ยรายวัน : 5,000 x 0.0684% = 3.42 บาท
หากมีการชำระหลังจากกดเงินสด 30 วัน : 3.42 x 30 = 102.60 บาท
จำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจากการใช้บริการเงินสดล่วงหน้าเท่ากับ 102.60 บาท
บัตรเครดิตนำมาซึ่งความสะดวกสบายแก่ผู้ที่ถือก็จริง แต่ผู้ใช้งานต้องไม่ลืมว่า หากใช้บัตรเครดิตจนเกินความสามารถให้การชำระหนี้ อาจทำให้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นก่อนจะใช้บัตรฯ ในการซื้อสินค้าหรือบริการควรประเมินก่อนการใช้จ่ายทุกครั้ง
อ้างอิงข้อมูล www.theglobaleconomy.com/rankings/people_with_credit_cards