ปั่นหุ้น ทำกันยังไง สังเกตยังไง
หุ้น2,935
ปั่นหุ้น ทำกันยังไง สังเกตยังไง
ในครั้งนี้ 724 wealth จะเล่าถึงความผิดเกี่ยวกับการปั่นหุ้น หรือเรียกได้อีกอย่างคือ การสร้างราคาหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนควรต้องทราบ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการปั่นหุ้น จนเป็นเหตุทำให้พอร์ตการลงทุนของท่านเสียหาย
การปั่นหุ้น (Stock Manipulation) คือ อะไร?
คือ การควบคุมราคาของหุ้นให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้ปั่นหุ้นต้องการ เพื่อผลประโยชน์ อาจเป็นการแทรกแซงราคาหุ้นด้วยการทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ โดยผู้ปั่นหุ้นส่วนใหญ่มักจะกระทำโดยบุคคล 2 คนขึ้นไป สิ่งสำคัญที่ผู้ปั่นหุ้น (เจ้ามือ) ต้องมีคือ
- ผู้ปั่นหุ้นจะต้องมีเงินจำนวนมหาศาล เพื่อไว้เข้าซื้อหุ้นจำนวนมากทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น (ลากหุ้น)
- ผู้ปั่นหุ้นจะต้องมีหุ้นในมือจำนวนมหาศาล เพื่อที่จะได้ขายออกส่งผลให้ราคาหุ้นลง (ทุบหุ้น)
การปั่นหุ้นที่พบเห็นบ่อยโดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีดังนี้
- High Close คือ การซื้อหุ้นก่อนเวลาปิดตลาด ทำให้ราคาปิด ณ เวลาสิ้นวันสูงขึ้น เพื่อชักจูงนักลงทุนสาย Technical ที่เน้นวิเคราะห์ราคาแท่งเทียนเข้ามาซื้อหุ้น
- Wash Trading คือ การซื้อและขายหุ้นกันเองหลายๆครั้งในกลุ่มปั่นหุ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการซื้อขาย อาจซื้อขายหุ้นโดยใช้บัญชี Nominee ที่มีในหลายๆโบรคเกอร์ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดปกติจนถูกผู้ตรวจสอบจับได้
- Pump and Dump คือ การลากราคาหุ้นขึ้นไปสูงและทุบลงมา ช่วงแรกผู้ที่ปั่นหุ้นอาจมีหุ้นบางส่วนจากราคาต่ำๆ จากนั้นค่อยปล่อยข่าวลวงหรือข่าวที่ดีเกินความเป็นจริงของกิจการ จังหวะเดียวกันก็ซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากจนทำให้ราคาหุ้นขึ้นสูง ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยต่างพากันเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาขึ้นสูงขึ้นไปอีก เมื่อถึงจุดๆหนึ่งคนปั่นหุ้นก็เทขายหุ้น (Dump) ออกไปจนหมดเพื่อทำกำไรส่งผลให้ราคาหุ้นลงอย่างรวดเร็ว และทิ้งให้นักลงทุนรายอื่นติดหุ้นอยู่ที่ราคาสูงไว้อย่างทุกข์ระทม
เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าหุ้นตัวไหนโดนปั่น ?
ลักษณะหุ้นปั่นสามารถสังเกตโดยที่ หุ้นปั่นส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องน้อย สังเกตที่ปริมาณการซื้อขาย เช่น ปริมาณการซื้อขายของหุ้นดังกล่าวนับ 6 เดือนย้อนหลัง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100,000 หุ้นต่อวัน แต่มีวันหนึ่งปริมาณการซื้อขายก็พุ่งมาที่ 2,000,000 หุ้นซะอย่างนั้น และถ้าหากนักลงทุนไปสังเกตตัวเลขงบการเงินจนถึงผลประกอบการ ก็ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการขึ้นของราคาหุ้น (งบการเงินบริษัทยังขาดทุนหรือจำนวนหนี้สินเยอะกว่าสินทรัพย์) หรือไม่ได้มีการลงทุนในโครงการใหม่ๆเลย
อีกจุดสังเกตหนึ่งคือ หุ้นปั่นนั้นมักอ่อนไหวต่อข่าว โดยเฉพาะข่าวที่สร้างความน่าเชื่อถือในการลงทุน เช่น มีการร่วมลงทุนกับบริษัทพันธมิตรที่ต่างประเทศ หรือการประกาศว่าจะมีการลงทุนใหม่ๆที่คาดว่าจะเป็น New S-Curve ซึ่งแน่นอนข่าวสารเหล่านี้มักทำให้นักลงทุนสนใจเข้าไปซื้อหุ้นจนทำให้ผลักดันปริมาณการซื้อขายหุ้นนั้นๆจนท็อปฮิตติดตาราง Most Active Volume ทั้งที่หุ้นตัวดังกล่าวก่อนหน้านี้ แทบไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักลงทุนเลย
อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อเชิญชวนหรือห้ามนักลงทุนเล่นหุ้นปั่น เว้นแต่ใครที่ชื่นชอบการเก็งกำไร อยากจะลองเสี่ยงเข้าไปทำกำไรในระยะสั้นแล้วขายทิ้ง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติในตลาดหุ้น ดังนั้นนักลงทุน-นักเก็งกำไรทุกท่านก็ต้องมีความระมัดระวังสูง และต้องคอยติดตามหน้าจอเทรดตลอดเวลาอย่าให้คาดสายตา เพราะถ้าหากท่านเข้าออเดอร์ช้า ออกช้า อาจจะโดนจ่ายรอบวง
หรือยืนงงอยู่บนยอดดอยก็เป็นได้
สรุป เข้าไปเล่นหุ้นปั่นได้ แต่ต้องเล่นอย่างระมัดระวัง หากทำกำไรได้ ก็อย่าลืมแบ่งไปลงทุนหุ้นที่มีพื้นฐานดี และพยายามหมั่นศึกษาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน อัพเดทข่าวสาร เพื่อให้อยู่รอดและหาโอกาสสร้างกำไรในตลาดได้อย่างมั่นคง ท่านสามารถติดตามบทความเกี่ยวกับการลงทุนได้ที่เว็บไซต์ของ 724 Market และถ้าหากผู้ใดสนใจหรือกำลังมองหาช่องทางการลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง สามารถติดต่อได้ที่ Line : @724Wealth
เนื้อหาบางส่วนอ้างอิงมาจาก : บทความของ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร