บทความ

รู้หรือไม่!! ขับรถขึ้น-ลงเขา ด้วยเกียร์ออโต้ ต้องทําอย่างไร

รู้หรือไม่!! ขับรถขึ้น-ลงเขา ด้วยเกียร์ออโต้ ต้องทําอย่างไร
 

เนื่องในเดือนนี้มีวันหยุดยาว หากคุณเป็นผู้ขับรถยนต์เกียร์ออโต้มือใหม่และต้องการขับรถขึ้น-ลงเขา มันคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ใช่ไหมล่ะครับ เพราะหากพลาดพลั้งไป อาจได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อยังไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้เกียร์แบบไหน วันนี้มาลองทําความเข้าใจไปด้วยกันสักครั้งครับ เพื่อที่จะทําให้วันพักผ่อนของคุณ เป็นวันที่น่าประทับใจด้วยการขับขี่ที่มั่นใจ และเพิ่มความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้นด้วยครับ 

ก่อนออกเดินทางให้เลือกรถที่จะต้องใช้ในการเดินทางก่อน คนที่ขับรถเล็กจําพวกรถอีโคคาร์ (Eco car) ประมาณ 1,200 cc ก็พอไปได้ครับ แต่คงต้องดูกําลังแรงบิดของรถรุ่นนั้นให้ดี ๆ นะครับว่า รถมีกําลังพอหรือไม่ถ้าเป็นไปได้ คุณอาจจะต้องใช้รถยนต์ที่มีกําลังเครื่องยนต์มากกว่า 1,500 cc ขึ้นไป

ข้อที่ควรรู้ในการขับรถขึ้นเขา

  1. หากขับรถในทางราบ ให้คุณใช้เกียร์ D ในการขับขี่ เมื่อถึงทางชันหรือขึ้นเขา ให้คุณใช้เกียร์ D2 สลับ D1 ขึ้นอยู่ กับความชันมากหรือน้อยในขณะนั้น
  2. เหยียบคันเร่งตามความชันของเส้นทาง ให้ใช้ความเร็วประมาณ 50–80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h) ก็พอ ไม่ต้องรีบครับ ถ้าหากคันหลังรีบ ให้คุณขับรถชิดซ้ายเพื่อเปิดทางให้รถคันหลังไปก่อน
  3. ขับรถให้ห่างจากคันหน้าประมาณ 30–50 เมตร เพื่อเป็นการเว้นระยะไว้ เผื่อว่ารถคันหน้าขึ้นไม่ไหว หรือรถตายกลางทางหยุดกะทันหัน หรือเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้่นมา คุณจะได้มีโอกาสหลบเลี่ยงได้อย่างปลอดภัย
  4. เมื่อต้องขับรถเข้าทางโค้งต่อเนื่องรูปตัว S ให้คุณพยายามมองให้ไกล และมองให้แน่ใจว่าทางข้างหน้าว่าง จากนั้น ให้ถอนคันเร่งแล้วเข้าโค้งรูปตัว S โดยตัดโค้งในแนวเส้นตรงให้มากที่สุด ให้ลองนึกถึงรถแข่งในสนามครับ คล้าย ๆ กัน
  5. ในระหว่างเดินทาง หากเจอเส้นทางทัศนวิสัยไม่ดี เป็นทางโค้งแคบ มีสันเขาบดบังสายตา ควรเข้าโค้งแบบธรรมดา และต้องบีบแตรส่งสัญญาณ เพื่อเป็นการให้สัญญาณกับรถที่วิ่งสวนทางมา

ข้อที่ควรรู้ในการขับรถลงเขา

  1. ห้ามใส่เกียร์ว่าง (เกียร์ N) ขับรถลงเขาโดยเด็ดขาด !!! ให้ใช้เกียร์ D2 สลับ D1 เช่นเดียวกับตอนขึ้นเขา การใช้เกียร์ว่างขณะขับรถลงเขาอันตรายมาก เพราะจะทําให้รถไหลลงเขาด้วยความเร็วสูง โดยไม่มีแรงหน่วงของ เครื่องยนต์ (Engine Brake)*
  2. ห้ามเหยียบเบรคย้ำหรือค้างนาน ๆ เพราะจะทําให้ผ้าเบรคไหม้ หรือเบรคแตกได้ ให้แตะเบรคเบา ๆ เป็นช่วง ๆ เพื่อให้รถชะลอความเร็วลงมาอยู่ในความเร็วที่พอเหมาะ
  3. ขณะขับรถลงเขา ถ้าไม่จําเป็นก็ไม่ควรเหยียบคันเร่งครับ แต่ควรปล่อยให้รถไหลลงมาเอง ด้วยเกียร์ D, D1, D2 ตามทางลาดลงเขา โดยควบคุมความเร็วของรถให้สัมพันธ์กับเกียร์
  4. ในจุดที่ต้องเข้าโค้งหักศอกแล้วลาดลงเขา ให้แตะเบรคลดความเร็วลงมาที่ 40–50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h) ครับ

นอกเหนือจากนี้การขับรถขึ้น-ลงเขา ผู้ขับขี่ควรมีสติในการขับรถให้มากครับ เพราะการขับรถในเส้นทาง ขึ้น-ลง เช่นนี้เป็นเส้นทางที่เราไม่คุ้นชิน ไม่ได้ขับบ่อย ๆ เหมือนเส้นทางปกติในชีวิตประจําวัน ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุย่อมสูงกว่า และเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าครับ

ทั้งนี้นอกจากเทคนิคการขับขี่ที่ต้องมีแล้ว ผู้ขับขี่จะต้องตรวจสภาพรถ และดูแลเครื่องยนต์ให้พร้อมก่อนออกเดินทางเสมอ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะฝากไว้เป็นเรื่องสุดท้าย และขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือประกันภัยรถยนต์ครับ เพราะมีประกันภัยไว้แล้วอุ่นใจกว่าจริงไหมครับ

ก่อนจบบทความนี้ขอฝาก 724 Insure ประกันออนไลน์ ซื้อง่าย ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง สะดวก ปลอดภัย เลือกได้ตามใจครับ

บทความโดย
คุณพรรณเชษฐ รนที
นายหน้าผู้ให้คำปรึกษางานประกันวินาศภัย
รองกรรมการฝ่ายบริหาร ระดับ 1 (Srikrung MGM Network)

---------------------

*Engine Brake คือการหน่วงกําลังเครื่องยนต์ที่กําลังไหลลื่นด้วยความเร็วให้ลดลงด้วยการยกเท้าออกจากคันเร่ง เมื่อเรายกเท้าออกจากคันเร่ง แน่นอนว่าอัตราการทดเกียร์ก็จะลดลงมาเรื่อย ๆ เช่นกัน โดยกําลังหน่วงจะมีมากที่สุด ในช่วงเกียร์ต่ำและทําให้สามารถชะลอความเร็วรถได้